แดนอัศจรรย์แห่งธรรม วัดชลประธานรังสฤษดิ์ โดยประชา แสงสายัณห์

ประชา2

หนังสือแดนอัศจรรย์แห่งธรรม วัดชลประธานรังสฤษดิ์ โดยประชา แสงสายัณห์ นำเสนอเรื่องราว ความเป็นมาของการก่อตั้งวัดชลประทานฯ ปณิธานการสร้างวัด หลักการวัดชลประทานฯและหลักการปฏิรูปพิธีกรรมของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ตลอดจนถึงหลักการเสริมเรื่องอื่นๆเช่นร่วมสมัยเจ้าชายสิทธัตถะ ร่วมสมัยพระพุทธเจ้า เดี่ยวแต่ไม่เปลี่ยว อิสระแต่ควบคุม และสัปปายะ4 อันเป็นแนวความคิด ในการดำเนินงานปรับปรุง ผังแม่บทวัดชลประทานฯ เพื่อเตรียมงานสลายสรีระธาตุประกาศสัจธรรม :ดอกไม้จันทน์ส่งสู่สวรรคาลัย ดอกไม้ใจส่งสู่มรรคผลนิพพาน หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ของพระราชวัชระธรรมภาณี(ส.ณ.สุภโร)

 

ในการปรับปรุงผังแม่บทเพื่อพัฒนาพื้นที่ บริเวณเขตพุทธานุภาพ วัดชลประทานฯได้ชี้ให้เห็นถึงตัวอย่างปัญหาและอุปสรรคต่างๆของวัดในปัจจุบัน ซึ่งนำไปสู่กระบวนการสร้างแนวความคิดและการออกแบบทางสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม ตลอดจนถึงศิลปกรรมต่างๆโดยมีหลักการที่เป็นวัตถุประสงค์ของการพัฒนาพื้นที่ คือ สร้างแดนอัศจรรย์แห่งธรรม เพื่อตอบสนองกระบวนการเรียนรู้ทางพุทธศาสนาผ่านการออกแบบ การตีความศิลปะและสถาปัตยกรรม ในภาษาโลกและภาษาธรรม แบบปริศนาธรรม

 

การออกแบบลานอริยจักรเพื่อประดิษฐานประติมากรรมรูปปั้นหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุสื่อคุณค่าธรรมะเพื่อความสมบูรณ์ในความเป็นมนุษย์ด้วย งานออกแบบเรขศิลป์(graphic design) สื่อสัญลักษณ์โลกียธรรมและโลกุตระธรรมโดยการเปรียบเทียบและอธิบายคุณค่าความหมาย ผ่านรูปสัญลักษณ์สื่อสังคมออนไลน์(social media icon&symbol)กับพุทธพจน์พระสูตรที่สำคัญ เช่น ธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร อาทิตตปริยายสูตร อนัตตลักขณสูตร สิงคาลกสูตร(ทิศ6) ขณสูตร และนิพพานสูตร เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี การออกแบบรูปสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับวันเกิด และวันมรณภาพ ของหลวงพ่อปัญญาฯที่แฝงความหมายในเชิงปริศนาธรรม

ตลอดจนถึง การออกแบบลานปริศนาธรรม รูปธรรมจักรและดอกบัว นิทานธรรม4ภาค ซึ่งเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของคนไทยได้แก่เรื่อง หนวดเต่าเขากระต่ายนอกบ เพลงกล่อมลูกภาคใต้

มะพร้าวนาฬิเกร์ กำบ่าเก่าเล่าไว้ ไปเมืองบนเห็นคนขี่ช้าง ไปเมืองล่างเห็นช้างขี่คน และผญาภาษิต กบเฒ่านั่งเฝ้ากอบัวและไม้สั้นไม้ยาว เป็นต้น

 

การออกแบบงานประติมากรรมรอบพระอุโบสถที่สื่อค่าในเชิงสัญลักษณ์มีความหมายในเชิงปริศนาธรรมได้แก่โลกุตระธรรม ระฆังสันติสุขสันติภาพ นะโมไตรสรณคมน์ธรรมจักร คนแบกทุกข์ค้นหาสุข ในรูปแบบประติมากรรมร่วมสมัย เพื่อสร้างบรรยากาศ ภาพลักษณ์และ

อัตลักษณ์ของวัดชลประทานฯให้มีบุคลิกภาพที่ทันสมัยและดึงดูดความสนใจในการค้นหาเรียนรู้ของพุทธบริษัทและศาสนิกชน ทั่วไป