ประวัติ

จาก “วัดราษฎร์” สู่ “พระอารามหลวง”

ที่ตั้ง วัดชลประทานรังสฤษดิ์ ตั้งอยู่เลขที่ ๗๘/๘ หมู่ที่ ๑ ถนนติวานนท์ ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๒๐
นิกายสงฆ์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
พื้นที่ มีที่ดินทั้งหมดของวัด เนื้อที่ ๔๙ ไร่ ๒ งาน ๒๘ ตารารงวา มีที่ธรณีสงฆ์ เนื้อที่ ๑๗ ไร่ ๗๘ ตารางวา

อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ จดหมู่บ้านจัดสรรเกร็ดแก้ว และที่ธรณีสงฆ์วัดกลางเกร็ด
ทิศใต้ จดซอยชูชาติอนุสรณ์
ทิศตะวันออก จดที่ดินของเอกชน
ทิศตะวันตก จดถนนติวานนท์

ความเป็นมา

ในพุทธศักราช ๒๔๙๖ กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนเจ้าพระยาขึ้น เพื่อประโยชน์ในการกสิกรรมและการคมนาคมทางน้ำ การก่อสร้างเขื่อนใหญ่แห่งนี้ ใช้ที่บริเวณอำเภอเมือง และอำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท จำเป็นต้องมีการตระเตรียมงานต่างๆ เช่น โรงงานที่จะผลิตซ่อมบำรุงเครื่องมือเครื่องจักร อู่เรือที่พักช่าง พนักงาน และคนงาน ตลอดจนคลังพัสดุ แต่เนื่องจากที่ดินของกรมชลประทานด้านทิศตะวันตกที่ติดกับแม่น้ำ จะขยายที่สร้างท่าเรือไม่สะดวก เนื่องจากมีวัดเชิงท่ากับวัดหน้าโบสถ์ขวางอยู่

ย้ายและรวมวัดเดิม-สร้างวัดใหม่

หม่อมหลวงชูชาติ กำภู อธิบดีกรมชลประธานในขณะนั้นจึงได้นำความกราบเรียนสังฆมนตรี เพื่อพิจารณาถึงความจำเป็นเรื่องการเวียนคืนที่ดินทั้งสองวัด คณะสังฆมนตรี จึงเห็นชอบที่ให้โอนที่วัดเชิงท่าและวัดหน้าโบสถ์ ให้แก่กรมชลประทาน โดยให้ย้ายวัดทั้งสองมาสร้างขึ้นใหม่ทางทิศตะวันออกของถนนติวานนท์ การย้ายวัดดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๙-๒๕๐๒

จึงเสร็จเรียบร้อย กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศรวมวัดทั้งสองเป็นวัดเดียวกัน เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๓ โดยวัดที่สร้างขึ้นใหม่นี้ จะต้องอยู่ในความอุปการะของกรมชลประทาน อธิบดีกรมชลประทานจึงได้กราบทูลสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) วัดสระเกศ ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เพื่อพิจารณาตั้งชื่อวัดขึ้นใหม่ จึงได้นามวัดใหม่ว่า “ วัดชลประทานรังสฤษดิ์” แปลว่า วัดที่กรมชลประทานสร้าง

พิธีเปิดวัด และแต่งตั้งเจ้าอาวาส

เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๓ ได้มีการทำพิธีเปิดวัด มอบถวาย สังฆิกเสนาสนะ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้อ่านพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับการย้ายวัด สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) วัดสระเกศ ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระพุทธโฆษา-จารย์ ประธานฝ่ายสงฆ์ ได้วางแผ่นศิลาฤกษ์ลงบนฐานชุกชีในอุโบสถ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ประธานฝ่ายฆารวาส ได้อัญเชิญพระประธานขึ้นประดิษฐานเหนือฐานชุกชีจากนั้น พระธรรมวิสุทธาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดนนทบุรี ได้อ่านประกาศแต่งตั้ง พระปัญญานันทมุนี (ปัญญานันทภิกขุ) เป็นเจ้าอาวาสวัดชลประธานรังสฤษดิ์

พระราชทานวิสุงคามสีมา

ครั้งต่อมา เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานวิสุงคามสีมาให้แก่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๓๖ เมตร ยาว ๕๑ เมตร และได้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๔

กิจกรรมเผยแผ่ศาสนา

  • จัดให้มีการสอนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลีมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๓ จนถึงปัจจุบัน โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๒ โดยใช้สถานที่โรงเรียนชลประทานสงเคราะห์ จนอาคารเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ สร้างเสร็จใน ปี พ.ศ.๒๕๒๗ จึงเปิดสอนในวัดชลประทานรังสฤษดิ์ มาจนถึงปัจจุบัน
  • จัดแสดงธรรมเทศนาทุกวันพระ

    จัดให้มีการแสดงปาฐกถาธรรมทุกวันอาทิตย์ นับเป็นแห่งแรกของประเทศ โดย พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) พิจารณาเห็นว่า ทางราชการไม่ได้กำหนดให้วันพระเป็นวันหยุด จึงได้จัดกิจกรรมแสดงปาฐกถาธรรม สวดมนต์ เจริญภาวนา ทำบุญตักบาตรในวันอาทิตย์เพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่ง ทำให้ประชาชนสนใจเข้าวัดศึกษาปฏิบัติธรรมมากขึ้นตามลำดับจนเป็นกิจกรรมสำคัญของวัดมาจนถึงปัจจุบัน
  • จัดให้มีสถานที่อบรมกรรมฐานและจัดปฏิบัติธรรมในวันหยุดสุดสัปดาห์และวันสำคัญทางศาสนา
  • จัดให้มีการแสดงธรรมทุกคืนของการสวดอภิธรรมศพและช่วงก่อนการฌาปนกิจหรือพระราชทานเพลิงศพ
  • จัดให้มีสื่อเผยแผ่หลักธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา เช่น หนังสือ เทปธรรมะ รวมถึงสื่ออื่นๆ
  • จัดพิธีบรรพชาอุปสมบทหมู่ ทุกเดือน บวชแล้วจะได้รับการอบรม แต่ละรุ่นต้องบวชไม่ต่ำกว่า ๑๕ วัน

พระราชทานวิสุงคามสีมา

ครั้งต่อมา เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานวิสุงคามสีมาให้แก่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๓๖ เมตร ยาว ๕๑ เมตร และได้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๔

กิจกรรมเผยแผ่ศาสนา

  • จัดให้มีการสอนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลีมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๓ จนถึงปัจจุบัน โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๒ โดยใช้สถานที่โรงเรียนชลประทานสงเคราะห์ จนอาคารเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ สร้างเสร็จใน ปี พ.ศ.๒๕๒๗ จึงเปิดสอนในวัดชลประทานรังสฤษดิ์ มาจนถึงปัจจุบัน
  • จัดแสดงธรรมเทศนาทุกวันพระ

    จัดให้มีการแสดงปาฐกถาธรรมทุกวันอาทิตย์ นับเป็นแห่งแรกของประเทศ โดย พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) พิจารณาเห็นว่า ทางราชการไม่ได้กำหนดให้วันพระเป็นวันหยุด จึงได้จัดกิจกรรมแสดงปาฐกถาธรรม สวดมนต์ เจริญภาวนา ทำบุญตักบาตรในวันอาทิตย์เพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่ง ทำให้ประชาชนสนใจเข้าวัดศึกษาปฏิบัติธรรมมากขึ้นตามลำดับจนเป็นกิจกรรมสำคัญของวัดมาจนถึงปัจจุบัน
  • จัดให้มีสถานที่อบรมกรรมฐานและจัดปฏิบัติธรรมในวันหยุดสุดสัปดาห์และวันสำคัญทางศาสนา
  • จัดให้มีการแสดงธรรมทุกคืนของการสวดอภิธรรมศพและช่วงก่อนการฌาปนกิจหรือพระราชทานเพลิงศพ
  • จัดให้มีสื่อเผยแผ่หลักธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา เช่น หนังสือ เทปธรรมะ รวมถึงสื่ออื่นๆ
  • จัดพิธีบรรพชาอุปสมบทหมู่ ทุกเดือน บวชแล้วจะได้รับการอบรม แต่ละรุ่นต้องบวชไม่ต่ำกว่า ๑๕ วัน

เกียรติประวัติของวัดชลประทานรังสฤษดิ์

พ.ศ. ๒๕๒๕

เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างของกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม

พ.ศ. ๒๕๔๗

เป็นวัดที่มีรูปแบบและกลยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาและเผยแผ่ศาสนธรรมดีเด่น ในโครงการนำร่องการจัดการศึกษาและเผยแผ่ศาสนธรรมของวัด ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

พ.ศ. ๒๕๕๐

เป็นศูนย์เอกลักษณ์วัฒนธรรมชุมชนจังหวัดนนทบุรี

พ.ศ. ๒๕๕๕

โปรดเกล้าฯ ยกวัดราษฎร์ เป็นพระอารามหลวง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกวัดชลประทานรังสฤษดิ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญตั้งแต่วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เป็นต้นไป มีพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้ง พระธรรมวิมลโมลี (รุ่น ธีรปญฺโญ ป.ธ.๙) เป็นเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์ พระอารามหลวงตั้งแต่วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๕ ต่อมา พระธรรมวิมลโมลี อาพาธหนัก เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช และ ถึงแก่มรณภาพ เนื่องด้วยติดเชื้อในกระแสโลหิต ในวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๖ เจ้าคณะจังหวัดนนทบุรีจึงได้แต่งตั้งให้ พระมหาเจริญ สุทฺธิญาณเมธี เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส

พ.ศ. ๒๕๕๗

เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๗ ที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) มีมติแต่งตั้ง พระปัญญานันทมุนี เจ้าอาวาสวัดปัญญานันทาราม จ.ปทุมธานี ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์ พระอารามหลวง

ลำดับเจ้าอาวาส

๑. พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) พ.ศ.๒๕๐๓-๒๕๕๐

๒. พระธรรมวิมลโมลี (รุ่น ธีรปญฺโญ ป.ธ.๙) พ.ศ.๒๕๕๑-๒๕๕๕

๓. พระราชวัชรธรรมภาณี (ส.ณ. สุภโร) พ.ศ.๒๕๕๗-ปัจจุบัน